การบันทึกครั้งที่ 9
วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2559
ไม่มีการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นวันหยุดชดเชย วันปิยมหาราช
วันปิยมหาราช เปิดพระราชกรณียกิจในความทรงจำ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่5 แห่งราชวงศ์จักรี
วันนี้(23 ตุลาคม) เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรชาวไทย และชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช
เนื่องจากวันนี้ (23 ต.ค.) เป็นวันปิยมหาราช ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญของคนไทย ทีมข่าว MThai จึงได้รวบรวมพระราชกรณียกิจในความทรงจำที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาไว้ให้ได้ระลึกถึงกัน ดังนี้
พระราชกรณียกิจอันสำคัญ ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ก็คือ การเลิกทาส สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น ประเทศไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมือง ของประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ
นอกจากนี้ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ บุคคลศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติการในศาสนาได้อย่างอิสระ รวมทั้งได้มีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ระบบการใช้ธนบัตร และเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ
ด้านการสร้างถนน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตัดถนนราชดำเนิน และถนนเยาวราช ส่วนถนนสายอื่นๆ ที่โปรดให้สร้างและบูรณะเพื่อความสะดวกในการสัญจรของราษฎร ได้แก่ ถนนบำรุงเมือง ถนนเจริญกรุง ถนนวังบูรพา ถนนอุณากรรณ ถนนดินสอ ถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนจักรเพชร ถนนมหาชัย ถนนสี่พระยา เป็นต้น
ด้านการสร้างสะพาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานเชื่อมถนนข้ามคลอง เช่น สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ฯลฯ และยังได้จัดสร้างสะพาน ขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุกปีในวันเฉลิมพระชนมพรรษาจนถึงปีสวรรคต รวม ๑๗ สะพาน
โดยพระราชทานนามสะพานขึ้นด้วยคำว่า “เฉลิม” และ ตัวเลขต่อท้ายระบุพระชนมพรรษา เช่น สะพานเฉลิมศรี ๔๒ สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๘ ขณะเจริญพระชนมพรรษา ๔๒ พรรษา นับเป็นสะพานแรก และสะพานสุดท้ายคือ สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘
ด้านการไปรษณีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ มีการส่งจดหมายพัสดุสิ่งของเป็นครั้งแรก เฉพาะภายในกรุงเทพฯ แล้วขยายออกบริเวณตามหัวเมือง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๘
ด้านการเสด็จประพาส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบการเสด็จประพาสเป็นยิ่งนัก พระองค์เสด็จประพาสทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ บางครั้งทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชนบ้าง ปลอมเป็นขุนนางบ้าง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่างๆ มากมาย การเสด็จประพาสบ่อยครั้ง ทำให้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งที่ดี และไม่ดี สิ่งเหล่านี้พระองค์ได้นำไปพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น
เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด ที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่ง ซึ่งมีอิสรภาพ และความเจริญ กระแสพระราชดำรัสที่บ่งบอกถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่5
ขณะนั้นประเทศแถบอินโดจีนได้ถูกรุกรานจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก เนื่องจากประเทศในแถบอินโดจีนเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ทำให้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจได้โดยง่าย รวมถึงประเทศไทยก็เผชิญเช่นกัน ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมแกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น อีกทั้งต้องการศึกษาวิทยาการต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงประเทศ และจากการเสด็จประพาสยุโรปของพระองค์ในครั้งนี้ก็ได้นำความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการมาสู่บ้านเมืองของเรา
การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ส่งผลดีในการเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย
ซึ่งการเสด็จฯ เยือนรัสเซียครั้งนั้นนับว่าเป็นจุดสำคัญที่สุดของการเสด็จประพาสยุโรปทั้งหมด ข่าวการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัสเซียในครั้งนั้น ทำให้ราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของประเทศไทย ทำให้เกิดความเกรงใจอยู่ไม่น้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมหาอำนาจตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สะท้อนให้เห็นนโยบายของไทยที่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม และยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้
ทั้งนี้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กที่มีกำลังน้อย ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกยึดครองไปจนหมด ไทยจึงไม่อาจต่อรองด้วยกำลังกับชาติมหาอำนาจ แต่จะต้องพยายามแก้ปัญหาโดยใช้ “กลยุทธ์ทางการทูต” ในการรักษาเอกราชของชาติไว้ เห็นได้ชัดจากความสัมพันธ์ที่เกิดจากมิตรไมตรีขององค์ประมุขของไทยและ รัสเซีย ได้ช่วยให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อรักษาอธิปไตยของไทยไว้ตามแนวสันติวิธี